Toyota เปิดตัว Hilux FCEV รถกระบะต้นแบบทั้งหมด 10 คันในอังกฤษ โดยโครงการอยู่ในขั้นตอนการทดสอบเพื่อประเมินการใช้ไฮโดรเจนฟิวเซลในรถกระบะ โดยระบบส่งกำลังฟิวเซลล์นี้ถูกยกมาจากตัว Toyota Mirai
สำหรับรถกระบะ Toyota Hilux พลังงาน Fuel Cell จำนวนทั้ง 10 คันดังกล่าว ถูกผลิตขึ้นที่โรงงาน Toyota Motor Manufacturing (TMUK) ในเมืองเดอร์บี ประเทศอังกฤษ
โดยจำนวน 5 คัน จะถูกใช้เพื่อทดสอบด้านความปลอดภัย สมรรถนะการขับขี่ ฟังก์ชันการใช้งาน และความทนทานในการใข้งานจริง ขณะที่อีก 5 คันี่เหลือ จะถูกนำไปใช้เพื่อสาธิตให้แก่ลูกค้า และสื่อมวลชน รวมถึงนำเข้าไปร่วมในงานโอลิมปิก ที่ประเทศฝรั่งเศส
ในด้านรูปลักษณ์ตัวรถภายของ Toyota Hilux FCEV จะไม่มีความแตกต่างวจาก Hilux Revo เวอร์ชันเครื่องยนต์สันดาป ตัวรถจะมาในแบบตัวถัง Extra Cab โดยมีความยาวอยู่ที่ 5,325 มม. แต่สิ่งที่ต่างออกไปนั้นจะอยู่ที่ขุมพลังภายใต้ฝากระโปรงหน้า แบะที่อยู่ภายในตัวรถ
โดยด้านในของ Hilux FCEV จะมากับถังเก็บไฮโดรเจนแรงดันสูงขนาดความจุ 2.6 กิโลกรัม ที่ยกมาจาก Mirai จำนวน 3 ถัง ที่ติดตั้งอยู่ในแชสซีแบบ Ladder Frame รวมความจุทั้งสิ้น 7.8 กก.
นอกจากนี้ยังมาพร้อมเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) โพลีเมอร์อิเล็กโทรไลต์ ซ้อนกันอยู้ทั้งหมด 330 เซลล์ที่เป็นตัวสร้างพลังงานไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่เหนือเพลาขับหน้า และกักเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ความจุ 4 Ah ที่ติดตั้งอยู่ที่บริเวณกระบะหลัง
ขณะที่ตัวขับเคลื่อนนั้นจะเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าที่วางอยู่ที่คู่ล้อหลังให้กำลัง 180 แรงม้า แรงบิดสูงสุดที่ 300 นิวตันเมตร ซึ่งโตโยต้า เผยว่าจะวิ่งได้ระยะทางไกลถึง 600 กม. ต่อการเติมไฮโดรเจนแต่ละครั้ง ซึ่งตัวรถจะไม่ปล่อยมลพิษเลยแม้แต่น้อย จะมีเพียงน้ำสะอาดที่ถูกปล่อยออกมาเท่านั้น
อีกท้้งทาง Toyota ยังระบุว่าระบบส่งกำลังที่มีน้ำหนักเบาจะช่วยรับน้ำหนักบรรทุก และมีความสามารถในการลากจูงสูงกว่า เมื่อเทียบกับกระบะไฟฟ้าที่มีน้ำหนักมากกว่า ขณะเดียวกันก็ยังให้ระยะทางขับขี่ที่ไกลกว่าอีกด้วย
และเพื่อต่อยอดสำหรับการลดมลพิษทางอากาศ ในปัจจุบัน Toyota กำลังค้นคว้าวิธีที่ทำให้ระบบ Fuel Cell สามารถปรับขนาดได้ และถังไฮโดรเจนที่ปรับขนาดได้ เพื่อให้เหมาะสมกับรถประเภทต่าง ๆ โดยเทคโนโลยี Fuel Cell เจเนอเรชั่นที่ 3 ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอยู่นั้น ถูกวางให้นำไปใช้สำหรับรถโมเดลปี 2026 หรือ 2027 โดยเทคโนโลยีไฮโดรเจนฟิวเซลรุ่นใหม่นี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20 % และลดต้นทุนได้มากกว่า 1 ใน 3 ของปัจจุบัน เนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้นระบบส่งกำลังของ FCEV จะเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางของ โตโยต้า ร่วมกับรับบบไฮบริด, PHEV, BEV และ ICE พร้อมเชื้อเพลิงอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทางบริษัทตั้งเป้าให้ตลาดยุโรปเป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน