in , ,

รีวิว Honda ADV 350 จากใจคนขี่ Forza 350 แม้พื้นฐานเดียวกัน แต่ฟิลลิ่งการขี่ และสไตล์ต่างกันสิ้นเชิง

เชื่อได้เลยว่า Honda ADV 350 นั้น ต่างก็เป็นรถมอเตอร์ไซค์ที่ใครหลายคนรอคอยมาเนิ่นนาน เพราะมีกระแสข่าวโหมกระหน่ำมาอย่างต่อเนื่องก่อนการเปิดตัวในไทยมาเป็นปีๆ และยิ่งได้อานิสงส์จาก Honda Forza 350 ที่ทุกวันนี้แทบจะหาดีลเลอร์ที่มีรถพร้อมปล่อยแทบไม่ได้ มันยิ่งทำให้รู้ว่ากระแส A.T. ขุมพลัง eSP+ มันได้รับความนิยมมากจริงๆ

ซึ่งผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวขุมพลัง eSP+ ซึ่งใช้ Honda Forza 350 เป็นประจำทุกวัน และล่าสุดทาง Honda ก็ได้เชิญทีมงาน Autostation.com ไปทดลองขี่ Honda ADV 350 ใหม่ ที่พึ่งเปิดตัวสดๆ ร้อนๆ

วันนี้เราจะจึงขออาสาพาทุกท่านมาเจาะลึก และรีวิวอย่างละเอียด พร้อมแนะนำข้อมูลเชิงเปรียบเทียบระหว่าง 2 โมเดลนี้ เพื่อว่าใครกำลังลังเลใจ จะได้รู้ไปเลยว่าคันไหนมีดีอย่างไร และสไตล์ไหนที่ตอบโจทย์การใช้งานของคุณ

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนเลยว่า ผมเข้าใจดีว่าทั้ง 2 โมเดลนี้ มันคนละสไตล์กัน จริงๆ แล้วไม่สามารถเอามาเทียบกันได้ เพราะว่า Honda ADV 350 ใหม่ นั้น เป็นรถ A.T. ในสไตล์แบบ SUV ที่ใช้งานได้หลากหลายสไตล์มากกว่า แต่ยังไงซะไหนๆ ก็มีข้อมูลจากการใช้งานจริงของ Forza 350 อยู่แล้ว งั้นขอเอามาถ่ายทอดให้ได้พิจารณาไปพร้อมกันเลยทีเดียวก็แล้วกัน

สำหรับข้อมูลของตัวรถ Honda ADV 350 ใหม่ นั้น ผมขอไม่ลงรายละเอียดมาก เพราะเราจัดทำบทความไปก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงราคาจำหน่าย สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ที่

เปิดตัว All-New Honda ADV350 รถ Premium SUV Bike สไตล์แอดเวนเจอร์ ราคา 1.81 แสนบาท

แต่จะขอเล่าถึงจุดเด่นที่ทำให้ Honda ADV 350 น่าสนใจ และเหนือชั้นกว่ารถ A.T. พิกัดไม่เกิน 350cc. ในตลาดก็แล้วกัน

โช้คอัพหน้าหัวกลับ Upside-Down ของ SHOWA

แน่นอนว่านี่คือจุดขายสำคัญของ Honda ADV 350 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวในคลาสที่ได้รับการติดตั้งโช้คอัพแบบนี้มาจากโรงงาน โดยมีระยะยุบตัวมากถึง 125 มม. ซึ่งนั่นมากกว่าของ Forza 350 ถึง 36 มม. เลยทีเดียว ส่งผลให้ ADV 350 สามารถซับแรงกระแทกได้ดีกว่า และตอบโจทย์ในเส้นทางที่สมบุกสมบันมากกว่า (แต่ฟิลลิ่งการขี่หน้าจะลอยๆ หน่อยนะถ้าเทียบกับตอนขี่ Forza 350)

โช้คอัพหลังซับแทงค์ SHOWA

โช้คอัพหน้าจัดเต็มขนาดนี้แล้ว ด้านหลังจะไม่อัปเกรดตามมันก็ไม่บาลานซ์กันสิ ซึ่งก็ถือเป็นรุ่นเดียวในคลาสอีกนั่นแหละที่ได้โช้คอัพหลังซับแทงค์มาจากโรงงาน โดยมีระยะยุบตัวมากถึง 130 มม. ซึ่งมากกว่าของ Forza 350 ถึง 30 มม. (แม้รถผมจะใส่โช้คหลังแต่งมาแล้วก็ตาม แต่ระยะยุบตัวก็ยังทำได้น้อยกว่า SHOWA จากโรงงานใน ADV 350)

แผงคอจับแบบ 2 ชั้น

อันนี้แหละของดีจริงๆ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในรถระดับ Super Bike หรือ Adventure Bike รุ่นใหญ่ แต่ Honda ADV 350 ใหม่ ก็ใส่มาให้ ซึ่งมันช่วยเพิ่มความแน่น มั่นคง นิ่งเมื่อขี่ด้วยความเร็วสูง รวมไปถึงช่วยลดอาการแฮนด์สั่น หรือสะเทือนเมื่อตกหลุมแรงๆ ได้ดีกว่า แผงคอจับชั้นเดี่ยวใน Forza 350 มาก

ระบบ HSTC ปรับได้ 2 ระดับ

การมีระบบ Honda Selectable Torque Control (HSTC) ว่าเจ๋งแล้ว แต่ของ ADV 350 ใหม่ ยังสามารถเลือกปรับได้ 2 ระดับ (Forza 350 เปิด-ปิด ได้เท่านั้น) ซึ่งระบบนี้เป็นระบบที่ช่วยป้องกันล้อหลังหมุนฟรี โดยตรวจจับความเร็วสัมพันธ์ระหว่างล้อหน้า-ล้อหลัง การเลือกเปิดระดับ 1 นั้น จะช่วยให้ล้อหลังยังสามารถสไลด์ได้ เพิ่มความสนุกในการขับขี่ทางลุยมากขึ้น แต่ก็ยังช่วยป้องกันการลื่นไถลหากเปิดคันเร่งที่แรงจนเกินไป

ยางแบบ Block Pattern ของ Metzeler

ยางในลักษณะนี้ช่วยเพิ่มความเกาะถนนในทางฝุ่นที่ดียิ่งขึ้น ตอบรับกับสไตล์ของตัวรถที่สามารถลุยในทางดินได้ดีกว่า อีกทั้งยังเป็นยางแบรนด์พรีเมียมจากเยอรมันที่ติดรถมาให้จากโรงงานอีกด้วย ซึ่งเป็นยางแบบ Tubeless (ไม่มียางใน)

ใต้ท้องรถสูงที่สุดในกลุ่ม A.T. ไม่เกิน 350cc.

แน่นอนว่าด้วยความที่เป็นรถแบบ SUV Bike ระยะต่ำสุดจากพื้นจึงมีมากถึง 155 มม. (สูงกว่า Forza 8 มม.) และเบาะนั่งก็สูงกว่า 15 มม. ที่ 795 มม. ในเรื่องของทัศนวิสัยในการมองเห็นจึงดีกว่า และสามารถลุยได้แบบไม่ต้องห่วงอะไรมากระแทกแท่นเครื่อง

แต่คนตัวเล็กอาจจะรู้สึกว่าขี่ยากกว่า (เพราะขาไม่ถึงพื้น) แต่จริงๆ แล้วหากคุณรู้วิธีเบี่ยงตัวเอียงรถให้ขาข้างใดข้างนึงเหยียบพื้นได้อย่างมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นรถรุ่นไหนคุณก็สามารถขี่ได้อย่างแน่นอน อย่างการทดสอบครั้งนี้มีนักทดสอบที่เป็นผู้หญิงสูง 158 ซม. ยังขี่ได้เลย ฉะนั้นไม่ต้องเป็นกังวล

ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนเป็นไฮไลท์ที่ทำให้ Honda ADV 350 โดดเด่นกว่ารุ่นอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน และช่วยเพิ่มสไตล์การขับขี่ที่ไปได้หลากหลายกว่า แต่ทว่าในด้านขุมพลังนั้นยังคงเป็นเครื่องยนต์ eSP+ ขนาด 330cc. 4 วาล์ว แบบเดียวกับ Forza ซึ่งมีเทคโนโลยีกระเดื่องวาล์วแบบโรลเลอร์ยูนิแคม, ห้องปั้มน้ำมันเครื่องแบบ 2 ชั้น, Piston Oil Jet หัวฉีดที่คอยฉีดน้ำมันหล่อลื่นใต้ลูกสูบ และชุดบาลานซ์เซอร์ที่ลดอาการสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์อยู่ครบ

เอาเป็นว่าในเรื่องของความแรง คุณคงรู้สรรพคุณกันดีอยู่แล้วจาก Honda Forza 350 ผมขอไม่ลงรายละเอียดในเรื่องสมรรถนะอัตราเร่ง อัตราเร่งแซง อะไรให้มากความ โดยรวมคือใกล้เคียงกันมาก จะแตกต่างกันก็ตรงที่น้ำหนักตัวรถ และทรงของรถที่ต้านอากาศมากกว่า ฉะนั้นถ้าจะเอาไปดันโล จุดนี้มองว่า Forza 350 น่าจะทำได้ดีกว่าเล็กน้อย

แต่ฟิลลิ่งของช่วงล่าง Honda ADV 350 ใหม่ นั้น ถ่ายทอดออกมาได้ดีกว่าอย่างชัดเจน ตัวรถมีความนุ่มนวล นั่งสบาย และซับแรงกระแทกได้ดีกว่าอย่างรู้สึกได้ การทดสอบในทางลุยก็ไปได้แบบไม่ต้องกังวลมาก (หากไม่ได้เอาไปลุยที่โหดจนเกินไป) การขึ้นเนิน สาดแบงค์ ไต่ลูกระนาด แทบไม่รู้สึกถึงการสะเทือนของแฮนด์บาร์ ฉะนั้นการขับขี่ใช้งานในชีวิตจริงที่ต้องเจอกับสภาพถนนเมืองไทยแบบดาวอังคาร ตรงจุดนี้ ADV 350 ใหม่ สามารถรูดได้สบายๆ

อีกหนึ่งจุดที่ ADV 350 ใหม่ ทำให้ประหลาดใจก็คือ การพลิกรถซ้าย-ขวา แม้ว่าตัวรถจะดูโย่งๆ แต่ก็สามารถเข้าโค้งแคบๆ แบบต่อเนื่องได้อย่างไม่มีสะดุด บาลานซ์รถอยู่ในเกณฑ์ที่ดี การเอียงรถก็ไม่ต้องกังวลว่าชิ้นส่วนด้านล่างจะไปขูดพื้น เพราะใต้ท้องมันสูงจริงๆ

บทสรุป

โดยรวมแล้วก็ต้องบอกว่าไม่แปลกใจที่หลายคนแห่ไปจอง Honda ADV 350 ใหม่ กันแบบถล่มทลาย เพราะด้วยความสดใหม่ สไตล์ที่แตกต่าง และอ็อพชั่นที่ให้มาเกินคลาส กับราคาที่ถือว่าโคตรคุ้มแล้ว โดยเริ่มต้นที่ 1.81 แสนบาท (แพงกว่า Forza 350 ประมาณ 8 พันบาท) แต่ของที่ได้เอาไปแต่งเองของนอกเจ็บกว่านี้อีกเยอะ

แล้ว Forza 350 ยังเหลือที่ยืนอีกหรอ? ผมบอกเลยว่ายังมีที่ยืน เพราะสไตล์ของรถที่หรูหรา และนำไปแต่งทรงซิ่งได้ถูกจริตกว่า รวมไปถึงการใช้งานในเมืองที่ดูจะคล่องตัวกว่าพอสมควร แถมยังมีเรื่องชิลด์ไฟฟ้าสุดเท่ที่ก็ยังไม่มีรุ่นไหนในตลาดทำได้เอาไว้ขิงคนอื่นอีก ซึ่งผมมองว่าคนที่จะซื้อระหว่าง 2 โมเดลนี้ เป็นคนที่มีคาแร็คเตอร์ต่างกัน ก็อยู่ที่ว่าสไตล์การขับขี่ และไลฟ์สไตล์ของคุณมันจะตรงกับรุ่นไหนเท่านั้นเอง