in ,

รีวิว Honda Africa Twin 1100 โฉมใหม่ ใส่เทคโนโลยีเต็มคัน มันส์กว่าเดิมเยอะ | Review

Honda Africa Twin 1100 โฉมใหม่ เราเคยไปขี่แบบออฟโร้ดกรุบๆ มาแล้ว ตอนนั้นบอกเลยว่าประทับใจ แต่รอบนี้ของับให้เต็มคำหน่อยสิว่าอร่อยขึ้นแค่ไหน

เครื่องยนต์

เครื่องยนต์สองสูบเรียง SOHC ขยายเป็น 1084 ซีซี องศาการจุดระเบิดที่ 270 องศา มีแรงบิดมากกว่าเดิม 7% ให้แรงม้ามากกว่าเดิม 6% เป็น 101 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 105 นิวตันเมตร น้ำหนักเครื่องยนต์เบาลง 2.5 กก.

ECU มีการปรับจูนใหม่ ปรับองศาหัวฉีดใหม่ให้ฉีดตรงไปที่ห้องเผาไหม้และหัวเทียนโดยตรง เพื่อให้มีการไหลเวียนของแก๊สที่ดีกว่าเดิม เพิ่มเทคโนโลยีควบคุมวาล์วไอเสีย ทำให้รอบต่ำมีเสียงที่ดุดันและเพิ่มสมรรถนะในรอบปลาย อัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ 20.4 กม./ลิตร

ดีไซน์

  • ไฟหน้า LED
  • ไฟ Daytime Runing Light
  • ไฟท้าย LED
  • ไฟเลี้ยว LED
  • ระบบยกเลิกไฟเลี้ยวอัตโนมัติ
  • แฟริ่งดีไซน์ใหม่ทั้งนั้น
  • แฟริ่งท้ายสไตล์รถเอ็นดูโร่
  • แฮนด์บาร์กว้าง ปรับให้ขึ้น เข้าหาตัวมาขึ้น มีการปรับองศาใหม่
  • เรือนไมล์ 4 สี TFT แบบสัมผัส
  • ปรับการแสดงผลได้ 4 รูปแบบ
  • ช่องเชื่อมต่อ USB
  • รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth / Apple Carplay
  • ประกับควบคุมหน้าจอที่ฝั่งซ้าย
  • ชิลด์หน้าสั้น
  • การ์ดแฮนด์พลาสติก
  • เบาะนั่งสไตล์แรลลี่สองตอน
  • เบาะนั่งปรับความสูง 810 /830 มม.
  • การ์ดกันแคร้งและคอท่อ

แชสซีและเบรก

  • เฟรมดีไซน์ใหม่ เพรียวและเบาลง
  • น้ำหนักเฟรมเบาลง 1.8 กก.
  • เปลท้ายอลูมิเนียมสไตล์โมโตครอส
  • สวิงอาร์มอลูมิเนียมแรงบันดาลใจจาก CRF450R
  • โช้คหน้า Showa แบบหัวกลับขนาด 45 มม.
  • ปรับค่าพรีโหลดได้ระยะยุบ 230 มม.
  • โช้คหลังเดี่ยวแก๊ส Showa ทำงานร่วมกับสวิงอาร์ม
  • ปรับค่าพรีโหลดและรีบาวด์ได้ ระยะยุบ 220 มม.
  • ดิสก์เบรกคู่หน้าแบบลอยตัวขนาด 310 มม.
  • คาลิเปอร์สี่ลูกสูบจาก Nissin
  • ดิสก์เดี่ยวหลังขนาด 256 มม.
  • คาลิเปอร์สูบเดี่ยว
  • ล้อหน้าซี่ลวดแบบมียางใน 21 นิ้ว
  • ยางขนาด 90/90-21
  • ล้อหลังซี่ลวดแบบมียางใน 18
  • ล้อหลัง 150/70-18

ระบบอิเล็กทรอนิกส์

  • ระบบเบรก ABS Dual Channel
  • คันเร่งไฟฟ้า
  • สลิปเปอร์คลัทช์ (Assist-Slipper-Clutch)
  • เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว 6 แกน (6-axis IMU-Unit)
  • แทร็คชั่นคอนโทรล 7 ระดับ เปิด/ปิด ได้ (Honda Selectable Torque Control)
  • ระบบควบคุมพละกำลัง 4 ระดับ (Power Control)
  • ระบบควบคุมการหน่วงเครื่องยนต์ 3 ระดับ (Engine Brake Control)
  • ระบบป้องหันล้อหน้า-หลัง ลอยตัว (Wheelie Control / Rear Lift Control)
  • ระบบป้องกันล้อล็อคขณะเบรกในโค้ง (Cornering ABS)
  • ระบบป้องกันล้อล้อคขณะเบรกบนทางออปโร้ด (ABS Off-Road)
  • โหมดการขับขี่ 6 รูปแบบ (6 Riding Mode)

Riding Mode

Tour – โหมดการขับขี่ที่จะให้พละกำลังต่ำสุด (Level 1) รองรับการขนสัมภาระในการเดินทางทั้งผู้โดยสารและกล่องสัมภาระต่างๆ โดยปรับ Engine-Brake (Level 2) ไว้ในระดับกลาง และ Cornering ABS ทำงาน

Urban – รองรับการใช้งานหลากหลายพละกำลังของเครื่องยนต์จะอยู่ในระดับกลาง Engine-Brake(Level 2) Engine-Brake (Level 2) และ Cornering ABS ทำงาน

Gravel – พละกำลังจะมาในระดับสูงสุด (Level 4) Engine-Brake มาเยอะกว่าโหมดออนโร้ด (Level 3) ส่วน Cornering ABS ยังคงทำงานในเซ็ตติ้งแบบออฟโร้ด ABS ในเบรกหลังปิดไม่ได้

Off-Road – พละกำลังจะอยู่ในระดับกลาง-สูง (Level 3) ส่วน Engine-Brake จะปรับมาสูงที่สุด (Level 3) Cornering ABS ยังคงทำงานในเซ็ตติ้งแบบออฟโร้ด ABS ที่เบรกหลังปิดได้

USER 1 &2 – เจ้าของรถเลือกตั้งค่าได้ตามใจในทุกๆ ระบบช่วยเหลือทั้งพละกำลัง 1-4 เอ็นจิ้นเบรก 1-3 รวมถึง HSTC, Wheelie Control, ABS ทั้ง on-road และ off-road

Review: Honda Africa Twin 1100 STD

ครั้งแรกที่เราได้ลองขี่ Honda Africa Twin 1100 ในกิจกรรม Dirt Experience นั้น เราพอใจสัมผัสได้ว่า มันเบาขึ้น จุดศูนย์ถ่วงดีขึ้น คล่องตัวมากขึ้น พละกำลังสมูธติดมือ ออฟโร้ดสนุก สบาย แก้อาการได้ง่ายของเล่นเยอะขึ้นแต่ก็ใช้ยาก แต่มันก็ยังคาใจ รอบนี้เลยขอเอามาบิดสักวันสองวัน ให้หายคาใจ

On-Road

พละกำลังของเครื่องยนต์นั้นต่อเนื่องกว่าเดิมและควบคุมได้ง่ายกว่าเดิม การส่งกำลังนั้นสมูธ แรงสั่นสะเทือนน้อยไม่รู้สึกเมื่อยล้าแม้จะต้องขับขี่ทางไกล การทำความเร็วยืนพื้นในการเดินทางนั้นเหลือเฟือมากๆ คุณสามารถยืนพื้นที่ 14x กม./ชม. ได้ยาวๆ สบายๆ ด้วยเกียร์ 4 หรือ 5 และเอาเข้าจริง เราว่าเราใช้เกียร์ 5 – 6 น้อยมาก ยิ่งถ้าเดินทางที่ 12x กม./ชม. นั้นเกียร์ 4 หย่อนๆ ยังไงก็เหลือเฟือ

ช่วงล่างในการขับขี่แบบเดินทางเอง แม้จะไม่ใช่ระบบกันสะเทือนไฟฟ้าแบบใน Adventure Sport แต่เราว่าก็เหลือเฟือสำหรับถนนของไทย สามารถรับมือรูปแบบถนนที่เป็นคลื่น เนิน หลุม ทางขรุขระ แบบไม่ทันตั้งตัวระหว่างทางได้ดี ขี่ไกลๆ ไม่เหนื่อย ไม่เมื่อยปวดตัวจากการกระแทก

โหมดการขับขี่ที่เหมาะสำหรับการเดินทางเองแน่นอนว่าคือโหมหด Tour ที่ Power Control อยู่ในระดับที่ 1 ส่งกำลังแบบนุ่มๆ สบายๆ แต่ก็มีเรี่ยวแรงเหลือพอสำหรับการแซง แต่ถ้าติดตึงมือหรือโหมด Urban ก็กำลังดี แต่ถ้าอยากขยี้ตึงๆ ตลอดก็คงต้อง Gravel ที่ให้ Power Control มาเต็มหลอด แต่เชื่อผม เปิด Tour แล้วไปชิลล์ๆ ดีกว่า

ระบบเบรกเซ็ตมาให้ทำงานอย่างนุ่มนวลสำหรับการขับขี่เดินทาง พละกำลังอาจไม่ได้มากมายแบบจับหมับแล้วเอาอยู่ แต่ก็เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานของรถ ระบบป้องกันล้อล็อคขณะเบรกก็ทำได้ดี แม้ว่าในจังหวะเบรกจอดข้างทางจะมีเศษกรวดกระจายอยู่เต็มไปหมด (เกือบไปแล้ว)

Honda Selectable Torque Control นั้นมี 7 ระดับ เลือกปรับได้ตลอดเวลาหรือจะ เปิด-ปิด ก็ได้ วิธีใช้งานที่สะดวกที่สุดคือตั้ง ปุ่มดาว หรือ Fav เอาไว้ที่ HSTC การขับขี่บนทางดำเราว่าเปิดตัวแต่ 5 ขึ้นไป หรือ 7 ได้ก็ดี เปิด 7 ขี่ขณะฝนตกถนนเปียกไม่ต้องกังวลคันเร่ง ยัดได้แม้น้ำเคลือบผิวถนนแต่ก็จะมีอาการท้ายสะบัดเล็กน้อย

แต่ถ้าเป็นการบิดคันเร่งในโค้งขณะที่ฝนตกหรือถนนยังเปียกชื้นอยู่ แต่ละเลเวลก็จะมีอาการท้ายปัดเสียอาการที่รุนแรงต่างกันไป ฉะนั้นอยู่บนทางดำ เปิดไว้เถอะครับ ยิ่งเยอะยิ่งดี ยิ่งเยอะยิ่งปลอดภัย มีมาให้ใช้แล้วใช้กันเถอะครับ มันดีจริงๆ

แม้แฟริ่งจะดูเล็กลงกว่าเดิม แต่เรื่องการตัดลมเรากลับรู้สึกว่าทำได้ดีกว่าเดิม และที่แปลกจากที่เราคิดคืออาการหน้าเบาที่ความเร็วสูง มันอาจไม่ถึงกับหายไปแต่ดีขึ้นมาก ในรุ่นใหม่นี่เรากดความเร็วระดับ 19x-2xx ได้โดยที่ไม่มีอาการหน้าลอย หน้าส่าย หน้าสะบัด ถ้าถนนไม่ได้เป็นหลุม ปุปะ หรือว่าพัง และความเร็วระดับ 18x อะแค่ลากเกียร์ 4 เองนะ

เบาะนั่งสูงสำหรับเรานั้นให้ท่านั่งที่ผ่อนคลายและสบายกว่ามากสำหรับการเดินทางและแม้แต่ทางออฟโร้ด แม้เบาะจะแบบแข็งแน่น และมีขนาดเล็กแต่พอปรับสูงแล้วช่วยได้มาก แฮนด์บาร์ที่สูงขึ้น เข้าหาตัวมากขึ้น ปรับองศาใหม่ ให้ท่านั่งที่ทะมัดทะแมงควบคุมรถได้ง่าย ชิลด์หน้าเดิมในความเร็วสูงจะมีเสียงลมรบกวน แต่ไม่ทำให้หมวกสั่นกระพรือ ถ้าเน้นใช้เดินทางไกลแนะนำว่าเปลี่ยนชิลด์ใหม่ครับ

Off-Road

อย่างที่บอกไปว่า พละกำลังของเครื่องยนต์นั้นต่อเนื่องกว่าเดิมและควบคุมได้ง่ายกว่าเดิม โดยเฉพาะในความเร็วต่ำ ที่จะเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งมาจากบาลานซ์และจุดศูนย์ถ่วงรถที่ดีขึ้นกว่าเดิม โหมดการขับขี่สำหรับออฟโร้ดจะมี 2 แบบ คือ Gravel และ Off-Road ต่างกันที่ Gravel จะให้พละกำลังแบบจัดเต็ม แต่ปิด ABS หลังไม่ได้ เรียกว่าทำเอามาใจสายฝุ่นคลุ้ง เปิดกระแทกๆ สไลด์ๆ บนทางกรวดทางทราย ได้มันส์มือ

ส่วน Honda Selectable Torque Control ก็เลือกปรับกันตามอัธยาศัย แต่ละระดับก็ให้การสปินและการสไลด์ของท้ายรถที่ต่างกัน 7 ระดับมีระยะท้ายสะบัด ต่างกันประมาณหนึ่งเป็น 1 ก็มันส์ดี บนทางรวดก็ให้ได้สปิน สไลด์บ้าง ส่วนทางออฟโร้กถ้ากลัวลื่น ก็วืดว่าว่า สัก 3 น่าจะกำลังสวย คันเร่งของ Honda Africa Twin 1100 แม้ใช้ Power Mode สูงสุด ก็ไม่ได้มีอาการที่กระชาก กระแทก รุนแรง ทำให้คุมได้ง่ายในการขับขี่แบบออฟโร้ด

เส้นทางที่เราขี่กันไม่ได้เป็นทางออฟโร้ดแบบเอ็นดูโร่หนักๆ เพียงแค่เป็นทางดิน เลน ที่มีหินก้อนใหญ่ หินลอย หลุม แอ่งน้ำ ต่างจากครั้งก่อนหน้าที่จะเน้นการขับขี่บนทางที่เป็นดินและทรายร่วนๆ รอบนี้เลยได้วัดพลังกับระบบช่วงล่างกันหน่อย

ระบบกันสะเทือนแบบแมนนวล ค่ามาตรฐานจากโชว์รูมสอบผ่านมากๆ สำหรับการขับขี่แบบออฟโร้ด ในทางที่เป็นก้อนหินต่างขนาด และมีหินลอยประปราย มีหลุมมีแอ่งน้ำที่ต้องผ่าน มันรับแรงกระแจกได้อย่างดี ตัวรถไม่เสียอาการจากการกระแทกและงัดไปต่อได้อย่างมั่นใจ

การปรับบาลานซ์รถ ตำแหน่งแฮนด์ เบาะนั่งและถังที่แคบลง ทำให้ควบคุมรถและแก้อาการได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ทั้งการควบคุมแฮนด์และการหนึบตัวรถให้ถ่วงท่าในการขับขี่ที่ดี มั่นใจ ชิลด์หน้าสั้นถูกออกแบบมาเพื่อการขับขี่ออฟโร้ด จะเหลือก็แค่พักเท้าที่มีขนาดเล็กแถวยังมียางติดมา ก็ขี้เลนเข้าไปยังไงก็ลื่น

ระบบเบรกที่นุ่มนวลบนทางดำ ทำให้เรากะการใช้กำลังในการเบรกได้ดีบนทางออฟโร้ด การใช้งาน ABS บนทางออฟโร้ดเองก็โอเคนะ เราแค่ยังไม่ชินเท่าไร บนทางกรวดก็ใช้เบรกได้สบายๆ หน้าไม่พับ ABS ในโหมด Gravel ที่ ABS หลังก็ยังทำงานอยู่  แต่ถ้าเผลอไปกำหนักแล้วปล่อยพรวดยังไงก็เจออาการหน้าชกหน่อยๆ เหมือนกัน (เอาซะเหวอเลย)

User Mode ทั้ง 1 และ 2 นั้นคุณสามารถเซ็ตค่าต่างๆ ได้เอง แต่จะต่างกันเล็กน้อยที่การตั้งค่า ABS-RR เหมือนกับว่า User 1 นั้นไว้สำหรับการดำ User 2 นั้นไว้สำหรับการขับขี่ออฟโร้ด เวลาลูกค้าใช้จริงก็คงสลับอยู่ 1 – 2 แบบนี้

การขับขี่ในเมืองเองรู้สึกได้เลยว่าเบากว่ารุ่นโฉมก่อนหน้า แม้จะยังมีแฮนด์บาร์ที่กว้างใหญ่ จนไม่อาจมุดซอกแซกได้ แต่สัมผัสได้ว่าควบคุมได้ง่ายกว่า เหนื่อยน้อยกว่า เปิด HSTC เอาไว้ฝนตกถนนเปียกก็ไม่ต้องกลัวฝาท่อนรก หรือแผ่นปิดถนนมหาภัย อย่างน้อยเวลาที่คุณกลับมาจากทริปแล้วต้องลุยเข้าเมือง ก็จะไม่เปลืองแรงมากมาย

Conclusion

เราเคยคิดว่าถ้าวันหนึ่งจะซื้อ เดี๋ยวหาซื้อ Africa Twin 1000 เอาแล้วกัน มืองสองพร้อมของแต่งก็ราวๆ 3 – 3.5 แสนบาทไทย แต่พอได้ลองขี่ Africa Twin 1100 แล้ว แม่งเอ๊ย ใครมันจะยังไปอยากได้ตัวเก่าอยู่วะ ไม่ใช่ว่าตัวเก่าไม่ดีนะ แต่ตัวใหม่มันดีขึ้นกว่าเดิมทุกมิติจริงๆ ไม่ว่าจะทางดำหรือทางออฟโร้ด ขี่ง่าย ไม่เหนื่อยล้าจากการเดินทาง เหลือแรงไว้เที่ยวสบาย เป็นรถที่ยิ่งขี่ยิ่งชอบ ยิ่งอยู่ด้วยยิ่งอยากได้

แต่ถึงอย่างนั้น บางออปชั่นฮอนด้าก็ยังงก อย่างไม่ให้ล้อซี่ลวดแบบไร้ยางในมาในรุ่นมาตรฐาน ส่วนการใช้งาน Apple CarPlay ที่ต้องต่อสายกับ iPhone นั้นก็ไม่มีตัวยึดโทรศัพท์มาให้ อ๋อ อย่าลืมว่าการใช้งานหมวกกันน็อคต้องติดตั้งชุดหูฟังบูลทูธเอาไว้ด้วย แล้วไม่มีรุ่น DCT มาให้เลือกในรุ่นมาตรฐานแล้วนะ ส่งท้ายสั้นๆ สำหรับคันนี้ “อยากได้ ไม่อยากคืนครับ”

Honda Africa Twin 1100 มีราคาดังนี้
STD/MT ราคา 559,000 บาท
Adventure Sport/DCT ราคา 699,000 บาท

ขอขอบคุณ
บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จํากัด
ฮอนด้า บิ๊กวิงค์ กรุงเทพ

ผู้เขียน:Ken [Warodom C.]
ภาพ: ดัม เบล

กลับหน้าหลัก Autostation.com